Pages

Saturday, June 13, 2020

อาศรมมิวสิก โดย สุกรี เจริญสุข : พอล ซีซาร์เชค ตำนานอาจารย์กีตาร์คลาสสิก - มติชน

tasisuper.blogspot.com

พอล ซีซาร์เชค (Paul Cesarczyk) อาจารย์สอนกีตาร์คลาสสิก เข้ามาสอนที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 ก่อนมาอยู่เมืองไทย อาจารย์พอลเป็นผู้ช่วยสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (New York University) เมื่อเข้ามาแล้วก็ได้สอนและพัฒนาลูกศิษย์ไทยอย่างจริงจัง ขยันแสดงดนตรี ทั้งแสดงเดี่ยว แสดงคู่ แสดงรวมเป็นวง ได้แสดงกับวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย เดินทางไปแสดงที่ประเทศพม่า ลาว เวียดนาม รวมทั้งได้แสดงประกอบการสอนนักศึกษาด้วย

อาจารย์พอลเกิดที่โปแลนด์ ครอบครัวย้ายไปอยู่อเมริกา เมื่ออายุ 8 ขวบ เติบโตและศึกษาในนครนิวยอร์ก ในวัยเด็กอาจารย์พอลเรียนเป่าฟลุตและเป่าบาสซูน ต่อมาได้เล่นกีตาร์คลาสสิกอย่างจริงจัง เมื่ออายุ 17 ปี เข้าแข่งขันกีตาร์คลาสสิกจนชนะเลิศ ได้รับรางวัลอารอน โคปแลนด์ (Aaron Copland) และได้ขึ้นเวทีแสดงที่หอคาร์เนกี (Carnegie Hall) ที่นครนิวยอร์ก

ระหว่างปี พ.ศ.2538-2544 ได้เข้าเรียนปริญญาตรีและปริญญาโทดนตรี ที่โรงเรียนดนตรีชั้นนำของสหรัฐอเมริกา ที่แมนฮัตตัน (Manhattan School of Music) เข้าเรียนปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (New York University) กระทั่งได้เป็นอาจารย์ผู้ช่วยสอน มีงานแสดงและมีงานบันทึกเสียงที่นิวยอร์ก

การตัดสินใจมาทำงานในเมืองไทยเป็นเรื่องที่ยาก เพราะการเป็นนักดนตรี เป็นอาจารย์ และอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่อย่างนครนิวยอร์กนั้น เป็นศูนย์กลางของความเจริญทางดนตรี แต่ความท้าทายที่จะทำงานในพื้นที่ห่างไกลอย่างประเทศไทย เป็นเรื่องที่กระหายกับประสบการณ์และอยากเรียนรู้ไม่น้อย

การมาอยู่ที่เมืองไทยได้สอนกีตาร์คลาสสิกในสถาบันดนตรีที่พร้อมที่สุดในภูมิภาค ได้แสดงร่วมกับวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย เป็นอาจารย์กีตาร์คลาสสิกคนเดียวที่มีคุณสมบัติมีความสามารถโดดเด่นสุดในภูมิภาคเท่าที่เคยมี อาจารย์พอลเล่นลูต (Lute) สอนลูต ขณะเดียวกันก็แสดงร่วมกับอาจารย์ ดร.ยาเว็ต โบยาดจีฟ (Yavet Boyadjiev) ซึ่งเป็นภรรยาและเป็นอาจารย์สอนไวโอลินที่วิทยาลัยเดียวกัน

พอลให้เหตุผลที่เลือกมาสอนที่เมืองไทยเพราะเห็นเป็นโอกาสที่ดี ทั้งคู่เพิ่งเรียนจบปริญญาเอก แม้จะมีงานพิเศษอยู่เต็มมือก็ตาม แต่การมีโอกาสเผชิญโลกใหม่อย่างเมืองไทย ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจยิ่ง จึงเลือกมาสอนที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ได้ศึกษาและเรียนรู้เรื่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นนักดนตรี ทรงเป็นดุริยกวี ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ ยังค้นพบว่า ดนตรีคลาสสิกที่เมืองไทยนั้น กำลังเป็นที่นิยมและรุ่งเรือง เมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นๆ ในภูมิภาค เป็นความรู้สึกตื่นเต้นมากที่ได้มาอยู่เมืองไทย

อาจารย์พอลอธิบายว่า ชีวิตพร้อมที่จะปรับตัวกับวัฒนธรรมใหม่ได้ เมื่อปี พ.ศ.2528 พ่อแม่ได้ย้ายจากโปแลนด์ไปอยู่ที่อเมริกา ซึ่งเป็นเรื่องยากในการปรับตัว เมื่อปรับตัวได้ก็เรียนรู้และจำมาใช้ในการปรับตัวกับวัฒนธรรมใหม่ การเติบโตในนิวยอร์ก ซึ่งมีวัฒนธรรมที่หลากหลายอยู่แล้ว เมืองไทยจึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะปรับตัว แต่บรรยากาศกีตาร์คลาสสิกในเมืองไทยน่าตื่นเต้นมาก จำได้ว่าเมื่อมาถึงก็ได้โอกาสแสดงกีตาร์ร่วมกับ Akos Szilagyi นักเป่ารีคอร์เดอร์ (Recorder) จากฮังการี เล่นเพลงโบราณเป็นบรรยากาศที่สนุก

สำหรับการพัฒนานักกีตาร์ในเมืองไทย เด็กไทยขยัน กระหายความสำเร็จ มีพลังความอยากรู้และอยากเรียนมาก สอนให้เด็กฝึกซ้อมสิ่งที่ถูกต้องจนเป็นนิสัย แนะนำการแสดงที่ดีซึ่งมาจากการเตรียมตัวที่ดี ให้ขจัดความกลัวและความเสี่ยงออกไป ฝึกซ้อมหนักจนแม่นยำ ขจัดปัญหาของตนออกให้มากที่สุด เพราะเมื่อขึ้นเวทีแสดงจะพบกับสิ่งที่ควบคุมยาก อาทิ การแสดงบนเวที การแข่งขัน สอบคัดเลือก การบันทึกเสียงการแสดงในวาระพิเศษ ซึ่งเป็นบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่ควบคุมไม่ได้ ในฐานะนักดนตรีจะต้องฝึกฝนฝีมือให้ชำนาญ ฝึกทักษะให้คล่องตัว เพื่อใช้ทักษะฝีมือไปควบคุมสิ่งแวดล้อมแทน

การสอนกีตาร์เด็กไทยนั้น วิธีสอนแต่ละคนอาจจะแตกต่างกัน แต่พื้นฐานและมาตรฐานของความเป็นดนตรีเท่าเทียมกัน เพราะนักกีตาร์มีร่างกายที่แตกต่าง มีความรู้สึกนึกคิดที่แตกต่าง มีฝีมือที่แตกต่าง มีความเป็นมาที่แตกต่าง แต่สิ่งเหมือนกันคือ ทุกคนต้องการเป็นนักกีตาร์ที่เก่ง การควบคุมกีตาร์ เสรีภาพของการขยับตัวเคลื่อนไหว การพัฒนานิ้วให้แข็งแรง ไหล่มีอิสระไม่เกร็ง นักกีตาร์ทุกคนต้องเคารพเพลงที่นักแต่งเพลงเขียนไว้ จากโน้ตเพลงต้นฉบับต้องทำให้ได้ ทำให้เหมือน ทำให้ครบด้วยฝีมือ ส่วนอารมณ์ในการแสดงเป็นของทุกคนเอง สิ่งที่เป็นพื้นฐานในการฝึกคือ ต้องฝึกทุกวัน จนกีตาร์และเพลงเป็นหุ้นส่วนของชีวิต

อาจารย์พอลสอนเด็กว่า ดนตรีได้มอบความเฉลียวฉลาดให้แก่มนุษยชาติ เป็นสิ่งที่ศาสตร์อื่นทำไม่ได้ อาทิ ดนตรีให้ความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาความเป็นต้นคิด การคิดหาช่องทางจะสร้างสิ่งใหม่ ดนตรีสร้างความกลมเกลียวให้สังคม คนที่เข้าใจดนตรีมีความสามารถพิเศษด้านประสานงาน การคิดวิเคราะห์ ดำเนินชีวิตอย่างกล้าหาญและมีจริยธรรม ซื่อสัตย์ จริงใจ คิดหาสิ่งใหม่ สามารถมีชีวิตภายใต้ความกดดัน มีความอดทนสูง ดนตรีเป็นศิลปะที่สูงส่ง อยู่เหนือเทคโนโลยีและความว่างเปล่าของชีวิต

พ.ศ.2557 ศิษย์อาจารย์พอล ได้แสดงศักยภาพความเป็นเลิศ เมื่อ นายเอกชัย เจียรกุล ได้รับรางวัลชนะเลิศจากนานาชาติ นายฮิโตชิ มิยาชิตะ ดาวรุ่งวงการกีตาร์คลาสสิก ปัจจุบันเรียนปริญญาเอกอยู่ที่เยอรมนี อีกคนคือ นายชินวัฒน์ เต็มคำขวัญ มือกีตาร์คลาสสิกกับความฝันระดับโลก นักล่ารางวัลประกวด ซึ่งเรียนต่อกีตาร์คลาสสิกที่ออสเตรีย

นายสิริสัณห์ โสภณสิริ เรียนปริญญาโทอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิกตอเรีย (Victoria University) นิวซีแลนด์ และยังมีลูกศิษย์อีกหลายคนที่อาจารย์พอลภูมิใจ

ต้นมีนาคม พ.ศ.2563 อาจารย์พอล ซีซาร์เชค และครอบครัวลูก 2 คน กลับไปที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เหตุผลสั้นๆ ว่า ภรรยาไม่ได้ต่อสัญญา เมื่อลูกโตขึ้นก็ไม่มีหลักประกันใดๆ ชีวิตลำบากขึ้น ค่าเล่าเรียนของลูกแพงมาก การกลับไปอเมริกานั้นได้หลักประกันสังคมที่ดีกว่า การศึกษาให้ลูกก็ดีกว่า สำคัญที่สุดเวลานี้ความเป็นอยู่ไม่สะดวก อยู่ไม่สบาย อยู่ไม่มั่นคง และไม่ใช่เป้าหมายชีวิตอีกต่อไป เพราะทำงานแล้วเล็กลง ทำงานแล้วลำบากขึ้น ชีวิตนับวันมีแต่ความเสี่ยง ระหว่างเดินทางต้องเจอโรคโควิด ต้องกักตัว
อยู่ที่สเปน

ความสะเทือนใจเมื่อมหาวิทยาลัยไม่รับเด็กเก่าเตรียมอุดมดนตรีที่เป็นเด็กพิการ (ดาวน์ซินโดรม) เข้าเรียนปริญญาดนตรีไม่ได้ เหตุเกิดเดือนเมษายน พ.ศ.2562 คดีอยู่ที่ศาลปกครอง อีกคดีหนึ่งมหาวิทยาลัยยกเลิกสัญญาอาจารย์โดยอ้างอำนาจที่ถูกต้อง เหตุเกิดเมื่อมกราคม พ.ศ.2563 คดีอยู่ที่ศาลปกครองเช่นกัน

กรณีอาจารย์จูริส ลาคูติส (Juris Lakutis) ย้ายครอบครัวมาอยู่ไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 สอนเชลโล เล่นเชลโลในวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย ภรรยาคืออาจารย์อกริต้า (Agrita Lakutis) สอนฟลุต เป็นนักฟลุตวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย เมื่อป่วยเป็นไข้เลือดออก สมองอักเสบ กลายเป็นคนป่วยติดเตียง ตั้งแต่กันยายน พ.ศ. 2562 เข้าโรงพยาบาลกรุงเทพ ย้ายไปโรงพยาบาลยันฮี ไปศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก จบที่โรงพยาบาลวัดไร่ขิง ไม่มีเงินจ่าย เป็นหนี้โรงพยาบาล ครอบครัวเดือดร้อน ลูกศิษย์ช่วยเล่นดนตรีเพื่อขอบริจาค เป็นภาพที่จดจำ ทำให้ชาวต่างชาติตกใจและกลัว

วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2562 นักทรัมเป็ตหนุ่มวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย ได้ไปสอบวัดฝีมือกับวงฮ่องกงฟีลฮาร์โมนิก (Hong Kong Philharmonic Orchestra) ผ่านไปสอบรอบสองวันที่ 17 มกราคม พ.ศ.2563 สอบผ่านได้ตำแหน่งหัวหน้าทรัมเป็ต เป็นเด็กไทย เติบโตเรียนที่เมืองไทย ต้องไปหางาน (อาชีพดนตรี) ที่ต่างประเทศ เพราะไม่มีงานดนตรีรองรับในเมืองไทย

นายธนินท์ เจียรวนนท์ พูดแนะนำรัฐบาลเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ว่า รัฐบาลควรสนับสนุนให้คนเก่งของโลกเข้ามาอยู่ทำงานในเมืองไทยสัก 5 ล้านคน เพื่อช่วยพัฒนาประเทศไทยให้เจริญในทุกๆ ด้าน สำหรับด้านการศึกษาดนตรี มีคนเก่งจากนานาชาติเข้ามาสอนดนตรีที่ไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 ซึ่งคนเก่งนานาชาติเหล่านี้ได้สร้างความเข้มแข็งด้านวิชาดนตรี พัฒนาคุณภาพคนดนตรีสู่ระดับนานาชาติได้ ทำให้สถาบันดนตรีของไทยเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ

วันนี้ คนเก่งดนตรีระส่ำ ฝรั่งที่กลับได้ก็กลับบ้านไป คนที่อยู่ก็ยังไม่มีทางเลือก คนเก่งไทยไปทำงานที่อื่น เด็กไทยที่เก่งดนตรีไปเรียนที่สิงคโปร์ ยุโรป อเมริกา เมื่อคนเก่งออกจากเมืองไทย ทั้งเด็กและอาจารย์ ทำให้สถาบันไม่มีอาจารย์เก่ง อย่าลืมว่าเด็กที่เก่งนั้นมีทางเลือกเสมอ คนเก่งนั้นถือเป็นจุดแข็งขององค์กร คนเก่งมีวิสัยทัศน์ คนเก่งมีศักยภาพความเป็นเลิศ คนเก่งสามารถแข่งขันได้ อาจารย์ที่เก่งคือฤๅษี มีบารมี มีมาตรฐานสูง อาจารย์เก่งสร้างเด็กให้เก่งได้ เด็กที่เก่งคืออนาคต เมื่อคนเก่งไปกันหมด สิ่งที่เหลือก็ไร้ค่า

สภามหาวิทยาลัยผู้รักษาคำขวัญ ปัญญาของแผ่นดิน คือ คุณภาพและคุณธรรม กรรมการสภาควรออกจากห้องไปสำรวจว่าเกิดอะไรขึ้น หรือสภาเป็นแค่ยาสามัญประจำบ้านที่หมดอายุ เห็นว่ามหาวิทยาลัยควรมีแต่วิชาแพทย์เท่านั้น เพื่อขายความเจ็บป่วย ขายเชื้อโรค ขายน้ำเลือด น้ำหนองน้ำตา ความเจ็บป่วยกลายเป็นสินค้าและเห็นความเจริญก้าวหน้า สนองความต้องการของสังคมได้ วิชาแพทย์ได้สร้างชื่อเสียงให้มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันชั้นนำของโลก วิชาอื่นเป็นเรื่องคนไม่เก่ง สังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์เป็นได้แค่ผู้ป่วย ปล่อยไปตามยถากรรม แค่มีไว้ประดับความเป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบเท่านั้น

การที่อาจารย์พอล ซีซาร์เชค กลับอเมริกา สะท้อนความสะเทือนใจให้วงการศึกษาดนตรีเป็นที่สุด ตำนานและราคาความน่าเชื่อถือเป็นนามธรรม สามารถรู้สึกและสัมผัสได้ การที่มหาวิทยาลัยไม่เอาคนเก่ง ไม่แยแสใส่ใจกับคนเก่ง สิ่งที่เหลือก็เป็นแค่ซากปรักหักพังของอดีตที่มีเสมียนเฝ้าตึกร้าง ไม่มีใครกล้าเผยอปากพูด เพราะพูดไปแล้วก็กลัวจะตกงาน

ในที่สุด การศึกษาดนตรีของชาติ ก็กลายเป็นปัญหาของแผ่นดิน คือมีคุณภาพต่ำคุณธรรมเสื่อม

Let's block ads! (Why?)



"พอ" - Google News
June 14, 2020 at 12:08PM
https://ift.tt/30FaDiB

อาศรมมิวสิก โดย สุกรี เจริญสุข : พอล ซีซาร์เชค ตำนานอาจารย์กีตาร์คลาสสิก - มติชน
"พอ" - Google News
https://ift.tt/2AxnV60

No comments:

Post a Comment