tasisuper.blogspot.com
สกต. ย้ำการจัดสรรที่ดินทำกินของรัฐต้องใช้รูปแบบโฉนดชุมชน 10+1 ไร่ถึงจะแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ชาวบ้านสะท้อนปัญหานโยบายการจัดสรรที่ดินของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เป็นการมองด้านเดียวทำให้บางชุมชนต้องกลายเป็นสลัมในชนบท ทั้งที่พื้นที่มีมากมาย แต่กลับจัดสรรให้เกษตรกรและแรงงานไม่มีที่ทำกิน แค่ 5 ไร่ ที่อยู่อาศัย 1 ไร่ ในอนาคตจะไม่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้เลย พร้อมยื่น 6 ข้อเรียกร้องให้กมธ.ผลักดันแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
เจ้าหน้าร่วมเดินชมการจัดสรรพื้นที่ของสกต.
เมื่อ 27 มิ.ย.2563 คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาที่ดินและการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน สภาผู้แทนราษฎร โดยมี สาทิตย์ วงหนองเตย สมชาย ฝั่งชลจิต ประกอบ รัตนพันธ์ และประยงค์ ดอกลำใย พร้อมคณะรองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายอำเภอชัยบุรี ผู้ตรวจสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) หัวหน้า ส.ป.ก.จังหวัดสุราษฎร์ธานี เจ้าหน้าที่ตำรวจ อาสาสมัครรักษาดินแดน ( อส.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ลงพื้นที่ชุมชนคลองไทรพัฒนาสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานีเพื่อศึกษาปัญหาการจัดสรรที่ดินในเขตส.ป.ก. เพื่อนำผลการลงพื้นที่ไปเสนอต่อกรรมาธิการชุดใหญ่ให้หาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันกับชุมชน
นักปกป้องสิทธิฯ ที่ดินและชาวบ้านในพื้นที่ร่วมกันสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นคือ การเตรียมจัดสรรที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชนของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รวบรวมที่ดินของรัฐทุกประเภทและนำมาจัดสรรให้กับชาวบ้านได้ใช้พื้นที่ในรูปแบบ ที่ทำกิน 5 ไร่ 1 ที่อยู่อาศัย 1 ไร่ หรือที่เรียกว่าจัดสรรแบบ 5+1 ซึ่งไม่สอดคล้องกับการจัดสรรที่ดินทำกินของชาวบ้านและเกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิต
เดิมทีชาวบ้านได้ใช้รูปแบบโฉนดชุมชน 10+1 คือ ที่ดินทำกิน 10 ไร่และที่อยู่อาศัย 1 ไร่ ซึ่งหากนำรูปแบบการจัดสรรที่ดินแบบ 5+1 ของ คทช. มาใช้จะทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ชุมชนคลองไทรพัฒนาได้รับผลกระทบเพราะพื้นที่ทำกินจำนวน 5 ไร่นั้นไม่เพียงพอต่อการปลูกพืชผลทางการเกษตรเพื่อขายหรือดำรงชีพได้และจะทำให้ชาวบ้านในชุมชนไม่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้เลย
นางชูศรี โอฬาร์กิจ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯและตัวแทนสตรีจาก สกต.กล่าวว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่หลายภาคส่วนได้เดินทางลงมาเยี่ยมชมพื้นที่ของพวกเราหลายครั้งและรับปากว่าจะแก้ไขปัญหาให้ แต่ก็ไม่เคยมีการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมเลยสักครั้ง และยิ่ง คทช.ประกาศจะใช้การจัดสรรที่ดินแบบ 5+1 เราก็ต้องได้รับผลกระทบมากอย่างแน่นอน จึงอยากให้เจ้าหน้าที่มาครั้งนี้ไปช่วยผลักดันแก้นโยบายของ คทช.ด้วย
“ในช่วงโควิดที่ผ่านมาจะเห็นได้อย่างชัดเจนแล้วว่าการที่รัฐสนับสนุนให้ชาวบ้านได้มีพื้นที่ทำกินจะสร้างความยั่งยืนและหล่อเลี้ยงผู้คนในประเทศนี้ได้ในภาวะวิกฤต ในชุมชนของเราใช้การจัดสรรพื้นที่ในรูปแบบโฉนดชุมชนในรูปแบบ 10+1 เรามีแปลงผลิตพืชผลทางการเกษตรที่หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันทำอย่างชัดเจน มีพ่อค้ามารับซื้อพืชผักของพวกเราถึงที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน ช่วยให้แม่ๆ หลายคนสามารถดูแลส่งเสียลูกๆ ให้ได้เรียนหนังสือได้ ดังนั้นการที่คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) จะมาจัดสรรพื้นที่ให้พวกเราในลักษณะ 5 + 1 จึงไม่เข้ากับบริบทพื้นที่ของเราจึงอยากเสนอให้กรรมาธิการไปผลักดันเปลี่ยนแปลงแนวทางการจัดสรรที่ดินของ คทช.ที่ต้องยึดตามบริบทพื้นที่ของชาวบ้านด้วย” นางชูศรีกล่าว
ขณะที่ประทีป ระฆังทอง นักปกป้องสิทธิในที่ดินและกรรมการบริหารสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้กล่าวว่า 18 ปี ที่สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.)ได้ติดตามและผลักดันการแก้ไขปัญหาที่ดินของรัฐตั้งแต่ปีพ.ศ.2546 ถึงปัจจุบัน สกต.ได้ติดตามศึกษาปัญหาที่ดิน ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดกระบี่และชุมพร แล้วศึกษาการต่อสู้เรื่องที่ดินจากทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อให้เกษตรกรและแรงงานไร้ที่ดินทำกิน ได้เข้าถึงที่ดินทำกินซึ่งเป็นปัจจัยการผลิต และนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ คนละ ไม่น้อยกว่า 10 ไร่
ประทีปกล่าวต่อว่า ชุมชนได้ร่วมกันผลักดันทางนโยบาย และสกต.ยังได้ร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย(คปท.) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(ขปส.)เพื่อผลักดันทางนโยบายในการแก้ปัญหาที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน ที่หนุนเสริมให้ ชุมชนมีสิทธิ์จัดการทรัพยากรด้านต่างๆ ได้เอง เมื่อปีพ.ศ. 2552 ชุมชนได้ร่วมกันผลักดันทางนโยบายกับรัฐบาล จนได้เป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน(ปจช.) เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับ เกษตรกรและชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งในเขตพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พื้นที่ป่าไม้ พื้นที่ราชพัสดุ และพื้นที่ประเภทต่างๆ ปัจจุบันมีชุมชนที่ดำเนินโครงการตามนโยบายโฉนดชุมชน 486 ชุมชนทั่วประเทศ
ตัวแทนชาวบ้านจากสกต.ร่วมหารือกับกมธ.ที่ดิน
“แต่ชุมชนเหล่านี้ก็ต้องประสบปัญหากับนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ คือคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ คทช. ที่มีระเบียบย้อนแย้งอยู่ในตัวทำให้ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง บางชุมชนต้องกลายเป็นสลัมในชนบททั้งที่พื้นที่มีมากมาย แต่กลับจัดสรรให้กับเกษตรกรและแรงงานไม่มีที่ทำกินแค่รายละ 5 + 1 ที่ทำกิน 5 ไร่ ที่อยู่อาศัย 1 ไร่ ซึ่งในอนาคตจะไม่สามารถ พัฒนาคุณภาพชีวิตได้เลยเพราะการมองด้านเดียวของรัฐบาล ด้วยเหตุนี้ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ จึงไม่เห็นด้วยกับนโยบาย คทช. ของรัฐบาลปัจจุบัน” กรรมการบริหารสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ระบุ
อย่างไรก็ตามสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ได้มีข้อเสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาที่ดินและการออกเอกสารสิทธิในที่ดินที่ลงพื้นที่ชุมชนคลองไทรพัฒนา 6 ข้อหลักดังนี้
- การนำระเบียบ คทช.จังหวัดสุราษฎร์ธานี มาใช้อย่างเที่ยงตรง ขาดความเข้าใจในสภาพความเป็นจริง ขาดความยืดหยุ่น ไม่ประยุกต์ให้สอดคล้องเหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่ เป็นมูลเหตุในการคัดค้านนโยบาย คทช. ในกรณีการนำมาใช้ในพื้นที่ที่มีเกษตรกรตั้งชุมชนทำมาหากินในพื้นที่นั้น ๆ มาก่อนเป็นเวลานานแล้ว สำหรับพื้นที่แปลงว่างปราศจากผู้คนนั้นจะดำเนินการอย่างไรก็ได้แล้วแต่รัฐบาล และข้าราชการจะเห็นควร คงไม่มีปัญหาหรือผลกระทบต่อประชาชน และ สกต.ก็มิได้โต้แย้ง หรือคัดค้านแต่ประการใด
- ด้วยเหตุว่าระเบียบ คทช.จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีความไม่เป็นธรรมและขัดแย้งในตัวเอง รวมทั้งขัดแย้งกับสภาพความเป็นจริงหลายประการ เช่น ระเบียบกำหนดให้ผู้มีสิทธิฯ ต้องเป็นหัวหน้าครอบครัวตามเอกสารหลักฐานในทะเบียนบ้าน ซึ่งแสดงว่าเขาต้องมีที่อยู่อาศัยและมีที่ดินตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัย ในขณะเดียวกันระเบียบ คทช.จังหวัดสุราษฎร์ธานี ยังกำหนดว่าผู้มีสิทธิได้รับการจัดสรรที่ดินต้องไม่มีที่ดินอยู่เลย แม้เป็นเพียงที่อยู่อาศัย ดังนั้นผู้ที่มีบ้านเรือน และมีทะเบียนบ้านเป็นของตนเอง และมีฐานะเป็นเจ้าบ้าน ย่อมไม่มีสิทธิได้รับการจัดสรรที่ดินฯ ระเบียบหรือข้อกำหนดเช่นนี้ ส่อเจตนาว่าเป็นวิธีการกีดกันมิให้เกษตรกรรายย่อยสามารถเข้าถึงที่ดินได้ตามสิทธิอันพึงมีพึงได้
- กรอบคุณสมบัติข้อ 2 กำหนดว่า ต้องเป็นผู้ยากไร้ไม่มีที่ดินทำกิน และ/หรือที่อยู่อาศัย หรือรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาทต่อคนเฉลี่ยเท่ากับ 82 บาทต่อวัน ส่งผลให้ประชาชนที่มีที่ดินเพียงเล็กน้อย สามารถใช้เป็นเพียงที่อยู่อาศัยเท่านั้น ต้องเสียโอกาส หรือมีที่ดินเพียงเล็กน้อยแต่ไม่เพียงพอในการประกอบอาชีพ ก็จะถูกตัดสิทธิในการได้รับการจัดสรรที่ดินจากรัฐ รวมถึงการกำหนดอัตรารายได้สูงสุดต่อปีเป็นตัวชี้วัด ซึ่งต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง
- ระเบียบ คทช.จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขัดแย้งกับหลายนโยบายของรัฐที่ผ่านมาที่อนุญาตผ่อนผันให้อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ให้แก่สมาชิก สกต.แล้วและในความเป็นจริงพวกเขาอยู่อาศัยในพื้นที่แปลงที่จะจัดสรรที่ดินมานานกว่า 12 ปมาแล้ว กรอบคุณสมบัติข้อ 3 กำหนดให้มีถิ่นที่อยู่ในท้องที่ที่จะจัดที่ดินหรือใกล้เคียง ระบบการจัดสรรแบบวนก้นหอย และยังได้กำหนดว่าต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านก่อนวันที่ 9 ธันวาคม 2557 จะส่งผลให้สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ที่ได้รับการอนุญาตผ่อนผันให้อยู่อาศัยและทำกิน ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหา ครั้งที่มีนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นประธาน และต่อจากปี 2552 ก็ยังได้รับการผ่อนผันมาทุกรัฐบาล จนกระทั่งปัจจุบัน จะต้องออกจากแปลงที่ดินที่ตนเองได้ทำประโยชน์มานานกว่า 12 ปี เพราะประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถย้ายเข้ามาอาศัยในพื้นที่อำเภอชัยบุรีได้เพราะถูกปฏิเสธการย้ายเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของแปลงที่ดินจากหน่วยงานของรัฐจึงทำให้ประชาชนต้องขาดคุณสมบัติตามข้อ 3
- ปัจจุบันการทำประชาคมในหมู่บ้านจะยิ่งทำให้ผู้นำท้องถิ่นในหมู่บ้านจะสามารถผลักดันให้เครือญาติ หรือบุคคลในเครือข่ายการอุปถัมภ์ หรือฐานเสียงทางการเมือง เข้ามาอยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิสมควรได้รับการจัดสรรที่ดินจากรัฐ ส่งผลให้เกษตรกรที่ตั้งชุมชนในแปลงที่ดินของ ส.ป.ก. ที่เรียกร้องสิทธิในที่ดินมายาวนานต้องหลุดออกไปจากบัญชีของผู้มีคุณสมบัติถูกต้องในการรับมอบที่ดินจากรัฐ
- นโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ กำหนดอัตราการจัดสรรที่ดินในเขตความรับผิดชอบของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ให้กับเกษตรกรที่ไร้ที่ดินทำกินเพียงครอบครัวละ 6 ไร่ ซึ่งเป็นทั้งที่อยู่อาศัย และพื้นที่ทำการเกษตร หรือเรียกกันว่าสูตร 5 + 1 ไร่ ถ้าใน 1 ครอบครัวมีสมาชิก 4 คน เฉลี่ยแล้ว แต่ละคนได้รับสิทธิในการถือครองที่ดินเพียงคนละ 1 ไร่ 2 งาน เท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอในการใช้ดำรองชีพในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน และเกษตรกรจะไม่มีรายได้มากพอในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล สุดท้ายก็ต้องขายสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดิน แม้ว่าโดยกฎหมายห้ามมิให้ซื้อขายที่ดินในเขต ส.ป.ก. และเปลี่ยนอาชีพกลับไปเป็นแรงงานไร้ที่ดิน และประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป นโยบายคทช.แบนี้ไม่สามารถแก้ไขความยากจน
ดังนั้นการพิจารณากำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินของ คทช.จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ได้กำหนดเป็นระเบียบในการคัดเลือกคุณสมบัติของเกษตรกรผู้ที่มีความเหมาะสมเข้ารับการจัดสรรที่ดิน จะส่งผลกระทบทำให้สมาชิก สกต. ซึ่งอยู่อาศัยในชุมชนที่ยังไม่มีการรับรองฐานะทางกฎหมาย ได้แก่ ชุมชนก้าวใหม่ ชุมชนคลองไทรพัฒนา ชุมชนสันติพัฒนา ต้องขาดคุณสมบัติและเสียสิทธิ อย่างแน่นอน ภายใต้การกำหนดหลักเกณฑ์ ที่ไม่คำนึงถึงสภาพความเป็นจริง หลักความเป็นธรรม และการจัดการที่สอดคล้องกับสภาพปัญหา ทั้งด้าน เศรษฐกิจ และสังคมในปัจจุบัน
สาธิต ร่วมรับฟังข้อเสนอแนะจากสกต.
หลังจากคณะ กมธ. ได้รับฟังปัญหา สาธิตรับปากกับชาวบ้านว่าจะดำเนินการผลักดันเรื่องนี้ในกรรมาธิการให้
ขณะที่ปรานม สมวงศ์ จากองค์กร Protection International (PI) ระบุว่าช่วงภาวะโควิดทำให้เห็นได้ชัดว่าโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เป็นธรรมโดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงที่ดิน ที่อยู่อาศัย รายได้และความมั่งคั่ง ยิ่งทำให้ภาวะความยากจนรุนแรงขึ้น ประชาชนที่ยากจนต้องแบกรับภาระของผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะผู้หญิงและคนทำงานดูแลคนในครอบครัว เห็นได้จากผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่ส่งผลให้ประชาชนฆ่าตัวตาย ดังนั้นการรับฟังข้อเสนอจากนักปกป้องสิทธิฯด้านที่ดินอย่าง สกต.และเครือข่ายต่างๆ จึงสำคัญอย่างยิ่งและเป็นการช่วยส่งเสริมให้รัฐสามารถปกป้องสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของประชาชนได้
ทั้งนี้ข้อมูลจากองค์กร Protection International ยังระบุอีกว่า รัฐบาลมีหน้าที่สำคัญในการให้ความปลอดภัยแก่นักปกป้องสิทธิฯ โดยเฉพาะด้านที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ชนบทที่มีความห่างไกล นักปกป้องสิทธิของ สกต.ต้องเผชิญกับการคุกคามทั้งจากภาครัฐและจากผู้มีอิทธิพลหลายต่อหลายครั้งตลอดการต่อสู้ใน 10 ปีที่ผ่านมา มีอย่างน้อย 5 คนถูกลอบสังหารและ 4 ใน 5 คน ชีวิต โดยเป็นผู้หญิง 2 ราย โดยที่รัฐและกระบวนการยุติธรรมยังไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดมารับโทษตามกฎหมายได้
นิทรรศบางส่วนจากสกต.
Let's block ads! (Why?)
"พอ" - Google News
July 01, 2020 at 10:31AM
https://ift.tt/31xEXfN
'เกษตรกรใต้' ย้ำ กมธ. ปัญหารัฐจัดที่ดินให้ไม่พอ-เปิดช่องผู้นำท้องถิ่นใส่ชื่อคนใกล้ชิดรับที่ดิน - ประชาไท
"พอ" - Google News
https://ift.tt/2AxnV60